โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูกำหนดการพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยครูผู้สอนจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ "ขยะเป็นศูนย์" โดยนำความรู้เรื่องการจัดการขยะในโรงเรียนตามหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงบูรณาการสอนในคาบวิชาบูรณาการและลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ จัดการเรียนการสอนในวันจันทร์ อังคาร พุธ และศุกร์ คาบบ่าย
หลักสูตร Zero Waste School และหลักสูตรสิ่งแวดล้อมศึกษา
โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูมีการจัดทำแผนการสอนวิชาบูรณาการสิ่งแวดล้อมศึกษาและขยะเป็นศูนย์ โดยได้นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับนักเรียน มุ่งเน้นส่งเสริมผู้เรียนเป็นสำคัญ นักเรียนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมและมีผลงานนักเรียนที่เกิดจากการเรียนรู้ มีการจัดหา ผลิต พัฒนา สื่อ/แหล่งเรียนรู้ มาใช้ในการจัดการเรียนรู้และมีการเผยแพร่สู่ชุมชน มีการวัดผลประเมินผลที่เกิดจากการจัดการเรียนรู้วิชาบูรณาการ “สิ่งแวดล้อมศึกษา/ขยะเป็นศูนย์” ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงครบทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้/รายวิชา และนำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนาการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ผู้เรียนมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมศึกษาและขยะเป็นศูนย์ ตลอดจนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงนำสู่วิถีชีวิตและเผยแพร่สู่ครอบครัว ชุมชน องค์กรและหน่วยงาน มีการจัดกิจกรรมในโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ที่นำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาบูรณาการ
นักเรียนและบุคลากรภายในโรงเรียน ตระหนักถึงการจัดการขยะที่ต้นทาง ไม่สร้างขยะ ช่วยกันลดขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยใช้กระบอกน้ำ หิ้วตะกร้า ใช้กล่องอาหาร แทนพลาสติกทุกประเภท
นักเรียนและบุคลากรในโรงเรียน สามารถคัดแยกขยะตั้งแต่ชั้นเรียน และคัดแยกตามถังขยะทั้ง 4 ประเภทได้อย่างถูกต้อง บุคลากรในโรงเรียนเกิดความรู้ความเข้าใจ และตระหนักถึงการลดขยะต้นทาง (Reduce) ไปจนถึงการคัดแยกขยะ ตามหลัก 3Rs นำความเข้าใจใช้ในโรงเรียนรวมไปถึงประยุกต์ใช้ที่บ้าน มีการคัดแยกขยะรีไซเคิล เพื่อทำงานประดิษฐ์ หรือขาย มีการ Reuse ขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เมื่อนักเรียนได้มีลักษณะนิสัย จิตสำนึกที่ดีต่อการจัดการขยะและรักสิ่งแวดล้อมนั้น ส่งผลให้โรงเรียนเกิดแรงผลักดันกิจกรรมต่อเนื่องและมีแรงขับเคลื่อนกิจกรรมให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองในรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้นเพื่อส่งผลที่ดีให้กับตัวนักเรียนที่จะโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีจิตสำนึกดีในอนาคต
การลดปริมาณขยะมูลฝอยตั้งแต่ต้นทาง (Reduce)
กิจกรรมประกาศนโยบายลดขยะจากต้นทาง
รายละเอียดการดำเนินงาน โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูได้จัดประชุมนักเรียนทั้งโรงเรียน เพื่อระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาขยะในโรงเรียนและสร้างข้อตกลงเป็นแนวทางในการปฏิบัติร่วมกันว่า นักเรียน ครูบุคลากรทุกคน จะไม่นำถุงพลาสติกและโฟมจากนอกโรงเรียนเข้ามาในบริเวณโรงเรียน โดยมีนักรบสิ่งแวดล้อมตรวจสแกนถุงพลาสติกและโฟมตรงหน้าประตูทางเข้าโรงเรียน ปฏิรูประบบสหกรณ์เป็นสหกรณ์รักษ์โลก คือ งดขายสินค้าที่มีโฟมและพลาสติกเป็นบรรจุภัณฑ์ ประกาศงดขายน้ำดื่มขวดพลาสติกให้ครูและนักเรียนพกกระบอกน้ำส่วนตัว โรงเรียนบริการจุดเติมน้ำดื่มให้ทั้งครูและนักเรียน อีกด้าน จัดประชุมแม่ค้าหน้าโรงเรียน เพื่อชี้แจงแนวนโยบายโรงเรียนปลอดขยะและสร้างข้อตกลงร่วมในการจำหน่ายสินค้าหน้าโรงเรียน โรงอาหารหรือร้านค้าจะใช้แก้วน้ำส่วนตัวหรือใช้แก้วน้ำที่ล้างแล้วนำกลับมาใช้ใหม่นักเรียนตักอาหารเองพอรับประทานไม่เหลือทิ้ง เพราะกว่าจะเป็นอาหารต้องใช้พลังงานในการผลิต ใช้กระดาษทั้งสองหน้าลดการทำลายต้นไม้ ใช้ถุงผ้า/ตะกร้าใส่ของ ใช้ผ้าเช็ดมือ/ผ้าเช็ดหน้าแทนกระดาษทิชชูปิดน้ำ ปิดไฟ ปิดพัดลมเสมอเมื่อเลิกใช้งาน
Reduce (ลดการใช้)
การ ‘ลดการใช้’ คือจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่สุดของการจัดการขยะให้เหลือศูนย์โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูจึงลดการใช้พลาสติก แก้วน้ำพลาสติก ลดการใช้กระดาษทิชชู ลดการใช้กล่องโฟม ด้วยการใช้กระบอกน้ำส่วนตัวในการดื่มน้ำ
ทางโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู ให้ความสำคัญของการลดการใช้เพื่อให้การก่อเกิดขยะน้อยลงที่สุดไปจนถึงไม่มีขยะเข้ามาในโรงเรียนและโรงเรียนจะไม่สร้างขยะ ทางโรงเรียนจึงมี “กิจกรรมรณรงค์การลดขยะที่ต้นทาง” คือ นักเรียนจะใช้กระบอกน้ำส่วนตัว ไม่ใช้แก้วน้ำพลาสติก
Reuse (ใช้ซ้ำ)
คือการนำสิ่งของที่ใช้แล้วมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่าที่สุด เช่น ใช้กระดาษสองหน้า, ล้างช้อนพลาสติก เพื่อนำกลับมาใช้ใหม่, ล้างกล่องคุกกี้มาใช้เป็นกล่องใส่ของ, ซ่อมรองเท้าที่ขาด, นำเสื้อผ้าเก่าไปเย็บกระเป๋า ,ทำสิ่งประดิษฐ์จากของเหลือใช้, นำขวดน้ำพลาสติกไปเป็นภาชนะปลูกผัก, เลือกซื้อสินค้าที่สามารถใช้ซ้ำได้ แทนสินค้าที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เช่น ถ่านไฟฉายแบบชาร์ตไฟได้ นำโต๊ะนักเรียนที่ชำรุดมาใช้ซ้ำ
Recycle (นำกลับมาใช้ใหม่)
คือการนำขยะบางประเภท เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ หมุนเวียนกลับไปเข้าสู่กระบวนการ
ผลิต ผ่านกระบวนการแปรรูป เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เช่น กระดาษใช้แล้วนำไปผลิตเป็นกระดาษ
รีไซเคิล, กล่องนมนำไปผลิตเป็นแผ่นกรีนบอร์ด, กระป๋องอะลูมิเนียมนำไปผลิตขาเทียม, ขวดน้ำพลาสติก
นำไปผลิตเป็นเส้นใย สำหรับทำเสื้อกันหนาวหรือพรม, เหล็กนำไปผลิตเป็นวัสดุก่อสร้าง บริจาคกล่องนมเพื่อนำไปทำหลังคาเขียว เป็นต้น
ฐานการเรียนรู้ 5 ฐานในโรงเรียน
ผู้บริหารโรงเรียนได้มีนโยบายให้ครูแบ่งทีมปฏิบัติการออกเป็น 5 กลุ่มฐานการเรียนรู้ ประกอบด้วย (1) ฐานการเรียนรู้สวนเกษตรและสิ่งแวดล้อม (2) ฐานการเรียนรู้สหกรณ์รักษ์โลก (3) ฐานการเรียนรู้ธนาคารขยะและโรงกระดาษ (4) ฐานการเรียนรู้สิ่งประดิษฐ์รีไซเคิล (5)แหล่งเรียนรู้โรงอาหารรักษ์โลก รักชีวิต ซึ่งในแต่ละกลุ่มฐานจะมีครูประมาณ 3-5 คน มีการแบ่งบทบาทหน้าที่กันชัดเจน ในแต่ละฐานจะมีกระบวนการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่การตั้งชื่อฐาน การเรียนรู้เป้าหมายของฐานการเรียนรู้แต่ละฐาน กิจกรรมในฐาน องค์ความรู้ที่จะถ่ายทอด ตลอดจนวัสดุอุปกรณ์และงบประมาณสำหรับดำเนินการ เพื่อให้แต่ละฐานสามารถสร้างการมีส่วนร่วมในการปฏิบัติการไปสู่การจัดการขยะให้เหลือศูนย์เป็นภาพรวมทั้งโรงเรียน
1. ฐานการเรียนรู้สวนเกษตรและสิ่งแวดล้อม
กิจกรรมภายในฐานการเรียนรู้ การปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษ การปลูกไม้ผล การปลูกสมุนไพรพื้นบ้าน การปลูกไม้ยืนต้นเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว การทำปุ๋ยหมักใบไม้ การทำปุ๋ยหมักเศษอาหาร การทำน้ำหมักจุลินทรีย์อีเอ็ม การเลี้ยงหนอน การเลี้ยงไส้เดือน การเลี้ยงไก่ การเลี้ยงปลาดุก การเพาะเห็ด เป็นต้น สำหรับในฐานการเรียนรู้นี้จะเน้นเป็นจุดจัดการขยะประเภทอินทรีย์ด้วยการนำใบไม้ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนนำมาหมักในบ่อหมักปุ๋ยหมักในส่วนเกษตรและสิ่งแวดล้อม แล้วนำปุ๋ยหมักที่ได้ไปบำรุงดินในแปลงผักหรือกระถางต้นไม้ในโรงเรียน และบรรจุกระสอบจำหน่าย จ่ายแจกให้ผู้ปกครองและชุมชน ขยะอินทรีย์ประเภทเศษอาหารจากโรงอาหาร กลุ่มนักรบสิ่งแวดล้อมจะนำมาที่สวนเกษตรทุกวัน เพื่อแบ่งบางส่วนเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก เลี้ยงหนอน เลี้ยงไส้เดือน รวมถึงนำไปหมักปุ๋ยจุลินทรีย์ เพื่อนำไปใช้ในการปลูกพืชผักสวนครัวปลอดสารพิษต่อไป
1.1 จุดเรียนรู้ปุ๋ยหมักจากใบไม้
กิจกรรมภายในจุดเรียนรู้ ทุกคนมีส่วนร่วมในการดูแลพื้นที่ในโรงเรียน เก็บกวาดขยะ นำใบไม้มารวมที่บ่อหมักใบไม้เพื่อทำปุ๋ยหมัก ในการทำปุ๋ยหมักจากใบไม้นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เป็นผู้ดูแลและปฏิบัติ องค์ความรู้ที่ได้รับ ใบไม้ใบหญ้าที่แห้งและกองรวมกันอยู่ที่พื้น เมื่อเวลาผ่านไปจะเกิดการย่อยสลายตามธรรมชาติกลายเป็นฮิวมัสที่มีประโยชน์มากต่อต้นไม้ในบริเวณนั้น แต่การจะรอให้ใบไม้ทั้งหมดย่อยสลายไปเองนั้นใช้เวลามาก แถมยังเสี่ยงต่อการเกิดไฟไหม้ ดังนั้น เราจึงต้องเอาใบไม้มาผ่านกระบวนการเพื่อให้ได้ฮิวมัสในเวลาที่รวดเร็วมากขึ้น คือ การทำปุ๋ยหมักจากใบไม้
1.2 จุดเรียนรู้แปลงเกษตรปลอดสารพิษ
กิจกรรมภายในจุดเรียนรู้ แปลงเกษตรถือเป็นจุดปลายทางที่ได้รับประโยชน์จากขยะอินทรีย์ ทั้งเศษอาหารจากโรงอาหารและใบไม้แห้งของโรงเรียน เพราะขยะอินทรีย์ดังกล่าวจะถูกนำไปทำปุ๋ยหมักใบไม้และปุ๋ยหมักเศษอาหารรวมทั้งน้ำหมักจุลินทรีย์ แล้วจะถูกนำไปใช้ในแปลงผักทั้งเป็นปุ๋ยหมักบำรุงดินและเป็นปุ๋ยรดน้ำบำรุงลำต้น ดอก ใบของพืชผักสวนครัวในแปลงเกษตร ในฐานการเรียนรู้สวนเกษตรและสิ่งแวดล้อม ของโรงเรียน โดยกลุ่มนักรบสิ่งแวดล้อมจะเป็นฝ่ายปฏิบัติการ
องค์ความรู้ที่ได้รับ ปุ๋ยบำรุงพืชผักสวนครัวไม่จำเป็นต้องพึ่งพาปุ๋ยเคมีเลย เพราะเราสามารถนำเศษอาหารและเศษผัก ผลไม้ ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนมาทำเป็นปุ๋ยหมักและปุ๋ยน้ำจุลินทรีย์สำหรับพืชผักสวนครัวได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยจากสารพิษ เราจึงควรคัดแยกขยะอินทรีย์ทั้งในบ้านและที่โรงเรียน ซึ่งเป็นการฝึกทักษะชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นักเรียนได้เรียนรู้สู่การปฏิบัติ ไม่ใช้สารเคมีและรักษาสิ่งแวดล้อม
2. ฐานการเรียนรู้สหกรณ์รักษ์โลก
การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาระบบร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียนจนพัฒนาสู่การเป็นสหกรณ์รักษ์โลก ถือเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จของโรงเรียน เนื่องจากในอดีตร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูได้ผูกขาด กับผู้ประกอบการที่มารับเหมา การดำเนินการซื้อขายสินค้าจึงเป็นไปตามกระบวนการของตลาด ที่มุ่งหวังผลกำไรตอบแทนเป็นที่ตั้ง สินค้าที่จำหน่ายให้กับนักเรียนจึงมีจำนวนมาก มีครบทุกชนิด ไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อ นักเรียนจึงสนุกกับการจับจ่ายใช้สอยอย่างมาก ผู้ประกอบการก็ได้ผลกำไรสูง โรงเรียนก็ได้รับผลประโยชน์เป็นเงินสนับสนุนจากผู้ประกอบการอย่างงาม ถึงแม้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้น คือ มีปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจำนวนมาก ทั้งถุงพลาสติก ถุงขนม ขวดน้ำดื่ม ขวดน้ำผลไม้ชนิดต่าง ๆ จำนวนมาก ซึ่งปัญหาเหล่านี้ทำให้โรงเรียนยังไม่สามารถจัดการขยะให้เหลือศูนย์ได้ ดังนั้น คณะผู้บริหารและครูได้เห็นปัญหาและได้พยายามหาทางออก จนได้ข้อสรุปว่า เราต้องปฏิวัติสหกรณ์ให้เป็นร้านค้าสหกรณ์รักษ์โลก โดยประกาศเป็นนโยบายเลยว่า จะไม่จำหน่ายสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์เป็นพลาสติก ไม่ขายน้ำดื่มขวดพลาสติก ให้นักเรียนมีขวดน้ำส่วนตัวทุกคน ครบ 100% ให้มีกล่องใส่ขนมส่วนตัวและให้มีถุงผ้าหรือตะกร้าใช้กันทุกคน และได้ตั้งทีมครูชุดหนึ่งเป็นคณะกรรมการบริหาร ตั้งทีมเด็กนักเรียนชุดหนึ่งมาทำหน้าที่เป็นฝ่ายดำเนินการ โดยเน้นกระบวนการมีส่วนร่วมของนักเรียน เปลี่ยนเป้าหมายจากเดิมที่มุ่งผลกำไรมาเป็นมุ่งให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และการดูแลสุขภาพของนักเรียนเป็นสำคัญ คือ ไม่จำหน่ายขนมที่ไม่มีคุณค่าทางโภชนาการ หรือที่ไม่มีประโยชน์ เช่น ขนมก๊อบแก๊บ ขนมที่มีส่วนประกอบของผงชูรสหรือสารปรุงแต่งสี รวมถึงน้ำอัดลมที่ห้ามจำหน่ายโดยเด็ดขาด สหกรณ์รักษ์โลกจึงทำหน้าที่มากกว่าจุดจำหน่ายสินค้า แต่ต้องทำหน้าที่เป็นจุดจัดกระบวนการเรียนรู้ให้นักเรียนได้รู้ว่า อาหารชนิดใดมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ ซึ่งเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับนักเรียนด้วย
องค์ความรู้ที่ได้รับ นักเรียนได้รู้ว่าอาหารหรือขนมจำนวนมากที่พบโดยทั่วไปในตลาด สินค้าชนิดใดมีประโยชน์ การเลือกซื้อสินค้าควรเลือกซื้ออย่างไร รวมไปถึงต้องรู้ว่าส่วนประกอบอะไรที่มีประโยชน์ วัตถุดิบตัวไหนที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์ชนิดไหนเป็นอันตรายและสร้างปัญหาขยะตามมา ให้นักเรียนเห็นความเชื่อมโยงของปัญหาขยะที่เกิดขึ้น จากร้านค้าสหกรณ์สู่โรงเรียน สู่ชุมชน เชื่อมโยงสู่การจัดการขยะของเทศบาล เห็นมูลค่างบประมาณที่เป็นเงินภาษีประชาชนจำนวนมหาศาล ที่ต้องเสียไปกับการจัดการขยะในแต่ละปี เห็นมลพิษที่ส่งผลย้อนกลับสู่ดิน น้ำ อากาศ และสุขภาพของผู้คน เป้าหมายตรงนี้เพื่อนำไปสู่การตระหนักในการลดละเลิกการสร้างขยะให้แก่นักเรียน
3. ฐานการเรียนรู้ธนาคารขยะและโรงกระดาษ
จากแนวคิดที่พยายามจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูได้พยายามจัดการปัญหาขยะให้ลดน้อยลงหรือให้เหลือศูนย์มาตั้งแต่ ปี 2550 เห็นพัฒนาการที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง จากในอดีตซึ่งมีปริมาณขยะจำนวนมาก ต้องใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่หรือตู้คอนเทนเนอร์มาวางเป็นจุดรับขยะหลังโรงเรียนเลยทีเดียว ต่อมา จากความร่วมมือของครู บุคลากรและนักเรียนได้ช่วยกันจัดการขยะ มีกิจกรรมมารณรงค์ส่งเสริมด้านการจัดการขยะและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง จากตู้คอนเทนเนอร์ก็ลดลงเหลือตู้คอนเทนเนอร์ขนาดเล็ก และต่อมาก็ลดลงเรื่อย ๆ เป็นถังขนาด 100 ลิตร ประมาณวันละ 10 ถัง และจนปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 3 ถัง/สัปดาห์ ที่เป็นขยะทั่วไปที่ไม่สามารถแยกมารีไซเคิลได้ จะเห็นได้ว่าการจัดการขยะต้นทางทั้งห้องเรียน การปฏิรูปสหกรณ์โรงเรียน การปฏิเสธการนำขยะพลาสติกเข้ามาโรงเรียน ทำให้ปริมาณขยะลดลงอย่างมาก เหลือเพียงประเภทถุงนมและกระดาษ ซึ่งจะถูกส่งไปที่ธนาคารขยะเพื่อเป็นจุดพักขยะไว้เฉยๆ ก่อนนำไปแปรรูปเป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดต่างๆ ธนาคารขยะโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูได้หยุดรับซื้อขายตั้งแต่ ปี 2560 เนื่องจากไม่มีขยะเกิดขึ้นมากพอที่จะจำหน่าย หรือปันผลให้สมาชิกเหมือนแต่ก่อนแล้ว จึงแปรสภาพมาเป็นจุดพักขยะประเภทถุงนมและกระดาษ ซึ่งกระดาษจะถูกนำไปประดิษฐ์เป็นกระดาษสาและงานศิลปะ ส่วนถุงนมจะนำไปแปรรูปเป็นอุปกรณ์เชียร์ ที่รองนั่ง และอื่น ๆ โดยฐานการเรียนรู้สิ่งประดิษฐ์รีไซเคิลจะมารับช่วงต่อไป
องค์ความรู้ที่ได้รับ กระดาษและถุงนมสามารถนำไปทำสิ่งประดิษฐ์รีไซเคิลนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น การนำกระดาษไปทำกระดาษสา ซึ่งนักเรียนจะได้อาศัยความรู้เรื่องการทำกระดาษสา กระบวนการย่อยกระดาษและผลิตออกมาเป็นกระดาษแผ่นใหม่ แล้วนำไปทำสิ่งประดิษฐ์หรืองานศิลปะได้ อาทิเช่น
เปเปอร์มาเช่ สมุดบันทึก เป็นต้น ในขณะเดียวกันนักเรียนจะได้นำถุงนมไปประดิษฐ์เป็นที่รองนั่ง อุปกรณ์เชียร์กีฬา และชุดรีไซเคิล เป็นองค์ความรู้ติดตัวนักเรียนไปและเป็นการลดปริมาณขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4 ฐานการเรียนรู้สิ่งประดิษฐ์รีไซเคิล
ถือเป็นอีกหนึ่งกลุ่มหนึ่งฐานการเรียนรู้ที่สำคัญของโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูที่มีภารกิจที่สำคัญมาก คือ การนำขยะรีไซเคิลของโรงเรียนที่ประกอบด้วย ขยะประเภทถุงนม มาจัดการอย่างเป็นระบบ โดยมีครูแกนนำประจำฐานที่จะคอยคิดค้นกระบวนการออกแบบสิ่งประดิษฐ์ หรือจัดกระบวนการให้นักเรียนได้ช่วยคิดช่วยสร้างสรรค์ออกแบบสิ่งประดิษฐ์และลงมือสร้างสิ่งประดิษฐ์ร่วมกัน ซึ่งเป็นการจัดกระบวนการเรียนการสอนในคาบวิชาบูรณาการ ป. 1 และ ป. 4 จำนวน 3 คาบ/สัปดาห์ โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ การจัดการเรียนรู้ให้นักเรียนตระหนักต่อปัญหาขยะ และเข้ามามีส่วนร่วมในการลด ละ เลิกการสร้างขยะ รวมไปถึงการช่วยจัดการขยะรีไซเคิล ด้วยการแปรรูปเป็นสิ่งประดิษฐ์ชนิดต่าง ๆ ด้วยฝีมือของนักเรียนเองซึ่งฐานการเรียนรู้นี้จะรับเอาขยะรีไซเคิลมาจากฐานการเรียนรู้ธนาคารขยะและโรงกระดาษอีกที
องค์ความรู้ที่ได้รับ ขยะหลายอย่างที่หลายคนมองข้ามไม่แยกขยะก่อนทิ้ง ปนไปกับขยะชนิดอื่น นอกจากไม่เกิดประโยชน์แล้วยังเพิ่มปัญหาขยะล้นเมืองให้กับเทศบาลนครขอนแก่น แต่ถ้าได้นำขยะเหล่านั้นคัดแยกออกมาจากขยะทั่วไปแล้วนำมาทำสิ่งประดิษฐ์นำกลับมาใช้ใหม่ เกิดประโยชน์ประหยัดค่าใช้จ่ายและสร้างมูลค่าจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ที่สำคัญนักเรียนที่ทำงานประดิษฐ์ก็เกิดทักษะ เกิดความภาคภูมิใจในฝีมือตนเองและได้ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ด้วย
5.แหล่งเรียนรู้โรงอาหารรักษ์โลก รักชีวิต
กิจกรรมภายในจุดเรียนรู้ ครู นักเรียนและบุคลากรโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูจะตักอาหารรับประทานเอง ตักแต่พออิ่มไม่ให้เหลือเป็นขยะ ในโรงอาหารปลอดพลาสติกและโฟม ใช้ภาชนะที่ล้างนำกลับมาใช้ได้ใหม่ จัดสภาพแวดล้อมที่ดี ปลอดโปร่ง ประหยัดพลังงานไม่เปิดแอร์ โรงอาหารโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูจัดการขยะด้วยหลัก 3Rs นักเรียนทุกคนมีกล่องขนมและขวดน้ำส่วนตัว
องค์ความรู้ที่ได้รับ โรงเรียนมีกลุ่มสายลับพลังงานจัดกิจกรรมประหยัดน้ำประหยัดไฟและลดขยะตั้งแต่ต้นทาง ดังนั้นทุกห้องเรียนมีป้ายรณรงค์ มีกลุ่มสายลับพลังงาน เชิญชวนประหยัดพลังงานตั้งแต่ต้นทางอยู่เสมอ ค่าไฟฟ้าในแต่ละเดือนก็ลดลงนักเรียนรับประทานอาหารหมดจาน แสดงให้เห็นว่าทุกคนเห็นความสำคัญในการประหยัดพลังงานต้นทาง
โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูได้ดำเนินกิจกรรมการจัดการขยะ โดยยึดหลัก 3Rs
ด้วยเห็นความสำคัญของขยะที่มีอยู่เกลื่อนเมือง และทางโรงเรียนยังสานต่อแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นแนวทางที่ปลูกฝังให้นักเรียนรู้จัก กิน อยู่ เป็น ดั่งเช่นเด็กคุ้มหนองคู นอกจากนี้ยังมีระบบการดูแลกันแบบครอบครัวเล็ก การให้ความสำคัญกับการดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อเป็นการสร้างความตระหนักและเกิดการเรียนรู้ของครูและนักเรียน ทางโรงเรียนจึงได้ดำเนินการโครงการโรงเรียนปลอดขยะ โครงการพลังงานยั่งยืน โครงการรักษ์สิ่งแวดล้อม และกิจกรรมนักรบสิ่งแวดล้อมขึ้นมีการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับการจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นรูปธรรมโดยกำหนดให้มีการสร้างจิตสำนึกและวินัยในการจัดการขยะมูลฝอยอย่างเป็นรูปธรรมฝึกให้แก่นักเรียนรู้จักความหมายของขยะ ประเภทของขยะ การจัดการขยะอย่างมีประสิทธิภาพ โรงเรียนมีการจัดทำเขตรับผิดชอบ ดูแล รับผิดชอบ ครอบคลุมพื้นที่ มีธนาคารขยะในโรงเรียน พัฒนาแหล่งเรียนรู้ภายในโรงเรียน เรื่องปุ๋ยหมักรักษ์สิ่งแวดล้อม มีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง โดยจัดถังใส่ขยะแบ่งเป็นสีต่าง ๆ สำหรับกระบวนการเรียนรู้ ส่งเสริมสนับสนุนบูรณาการความรู้กับการปฏิบัติจริง ในโครงการลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้ ปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนมีจิตอาสาดูแลสิ่งแวดล้อม นอกจากนั้นโรงเรียนมีการนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยหมัก หรือ น้ำหมักชีวภาพ ฝึกความเป็นระเบียบเรียบร้อย ฝึกทิ้งขยะลงในถังรับขยะให้ถูกต้อง ก่อนทิ้ง ต้องฝึกวิเคราะห์ขยะก่อนว่าขยะนี้เป็นขยะประเภทใด สามารถนำไปใช้ต่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้หรือไม่ นักเรียนมีการวิเคราะห์ปัญหา บางครั้งมีการนำเศษกระดาษที่ใช้แล้วมาทำเป็นงานประดิษฐ์เศษวัสดุในลักษณะของ Paper Mache ฝึกให้นักเรียนได้เรียนรู้ในการกำจัดขยะอย่างถูกวิธี ลดมลภาวะ